March 3, 2024

สัปดาห์ที่ 4 : บทภาวนาเทศกาลเข้าถึงธรรมและอีสเตอร์ 2024

( สัปดาห์ที่ 4 : ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่)

วันจันทร์ที่ 4 – วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2024 

———————————————————————————————————————

กดเพื่อฟัง>> เสียงบทภาวนา “ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ “

ข้อพระคัมภีร์สำหรับการใคร่ครวญ

เมื่ออ่านหัวข้อ “ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่” หลายๆ ท่านคงจะนึกถึงคำว่า มรดก (Legacy) ซึ่งสำนักราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า
“สิ่งที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หรือสิ่งที่สืบทอดมาแต่อดีตกาล” ซึ่งความสามารถในการสืบทอดความรู้หรือประสบการณ์ต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น
เป็นคุณลักษณะที่นักวิทยาศาสตร์ยกให้เป็นความพิเศษที่แยกมนุษย์ออกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยมนุษย์ส่งต่อความรู้ผ่าน วัฒนธรรม พิธีกรรม
หรือแนวทางการดำเนินชีวิต ผ่านประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรมในครอบครัว การเป็นพยาน และการกระทำต่างๆ แต่สำหรับคริสตจักรที่เป็นกลุ่มบุคคล ชุมชน
หรือองค์กร อะไรคือ “มรดก” และเราจะสามารถส่งต่อสิ่งนี้ให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร

“คนรุ่นหนึ่งจะยกย่องพระราชกิจของพระองค์ ให้คนอีกรุ่นหนึ่งฟัง
และจะประกาศกิจการอันทรงอานุภาพของพระองค์” (สดุดี 145:4)

         ข้อพระคัมภีร์จากพระธรรมสดุดีนี้ ได้ชี้ทางให้แก่เราว่า สิ่งที่คริสตจักรต้องทำคือ ยกย่องและส่งต่อพระราชกิจของพระเจ้า จากรุ่นสู่รุ่น
โดยพระเยซูคริสต์ได้ทรงขยายรายละเอียดถึงพระราชกิจและกิจการของพระเจ้าผ่านทาง พระมหาบัญชา (Great Commission) ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนดังนี้

“เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงออกไป และนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา
จงบัพติศมาพวกเขาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” (มัทธิว 28:19-20)

          คือ การประกาศถึงพระราชกิจทรงกู้ของพระเจ้าที่ได้ทรงลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์และสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่เราจากบาปบนกางเขนทางพระเยซูคริสต์
ซึ่งคริสตจักรดำเนินการผ่านพันธกิจการประกาศ (กรรมการการประกาศ มิชชั่นและบุกเบิก)

“และสอนพวกเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกท่านไว้
และนี่แน่ะ เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มัทธิว 28:21)

          พระมหาบัญชาส่วนที่สองนี้ “ให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกท่านไว้” หมายถึง คริสตจักรควรสืบสานพันธกิจต่างๆ ที่พระเยซู ได้ทรงกระทำ เช่น
พันธกิจการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยและอ่อนแอ (คณะอาสาสมัครทำพันธกิจ) การเลี้ยงดูเด็กและผู้เชื่อใหม่ให้เติบโตในทางของพระเจ้า
(พันธกิจคริสเตียนศึกษา และฟูมฟักพัฒนาบุคลากร) การสั่งสอน (คณะผู้อภิบาล ผู้ปกครอง) การนมัสการ (กรรมการดนตรี)
การดูแลความเป็นอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ (กรรมการฉันทะภาระฯ คณะบุรุษ สตรี อนุชน พันธกิจบ้านและครอบครัว กลุ่มเพื่อนหลังเกษียณ)
ตลอดจนการดูแลอาคารสถานที่ (คณะมัคนายก กรรมการสุสาน อาคารสถานที่) เราสามารถรับใช้ในพันธกิจของคริสตจักรตามการทรงเรียกในแต่ละช่วงเวลา
ที่พระเจ้ามอบหมายให้แต่ละคน แต่สิ่งที่ทุกองค์กรมักจะหลงลืมหรือละเลยไป คือ การส่งต่องานจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง

การเตรียมส่งมอบงานจากรุ่นสู่รุ่นในทางการบริหารเรียกว่า การวางแผนผู้สืบทอดตำแหน่งหรือรับช่วงต่อ (Succession Planning)
แม้ว่าฟังดูเป็นแนวคิดการบริหารยุคใหม่ แต่พระเยซู เป็นผู้มาก่อนกาลอย่างแท้จริง พระองค์เป็นต้นแบบที่ยอดเยี่ยมในการเตรียมคนเพื่อมารับช่วงต่อ
โดยวิธีการสร้างสาวกของพระองค์หากเปรียบเทียบกับหลักวิชาการในปัจจุบันสามารถแบ่งเป็นขั้นต่างๆ ได้ดังนี้

1.การสรรหา (Recruiting) พระเยซูทรงเลือกผู้ที่จะมาช่วยงาน แต่พระองค์ไม่ได้ใช้หลักการสรรหาแบบเดียวกับโลก
คือ พระองค์ไม่ได้คัดกรองคนตามความสามารถ ความถนัด การศึกษาหรือระดับปริญญา แต่พระองค์โอบรับผู้ที่ตอบรับการทรงเรียกของพระองค์

พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “จงตามเรามา เราจะตั้งพวกท่านให้เป็นผู้หาคนเหมือนหาปลา”
พวกเขาก็ละแหตามพระองค์ไปทันที” (มาระโก 1:17-18)

         เหตุใดพระองค์จึงอนุญาตให้ชาวประมงผู้มีการศึกษาน้อย มาร่วมพันธกิจที่ยิ่งใหญ่และยากที่จะเข้าใจ ก็เพราะคนเหล่านั้น “ตามพระองค์ไปทันที” ในคริสตจักรก็เช่นกัน
เราไม่สามารถคัดเลือกคนตามเอกสารการสมัครงานได้ เราทำได้เพียงแต่อธิษฐานให้ผู้ที่จะร่วมงานเหล่านั้น ตอบสนองการทรงเรียกและกล้าที่จะออกจากพื้นที่ที่ตนคุ้นเคย
เพื่อติดตามรับใช้พระองค์

2.การสอนงาน (Mentoring) เนื่องจากพันธกิจของพระเยซูมีหลากหลายรูปแบบ และสาวกก็มีพื้นเพที่แตกต่างกันมาก
พระองค์จึงทรงใช้เวลากับเหล่าสาวกเป็นเวลา 3 ปี พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการจัดการเรียนรู้แบบให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student center)
พระองค์เปิดโอกาสให้เหล่าสาวกได้สอบถามในสิ่งที่ตนไม่เข้าใจ พระองค์ทรงอธิบายความคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมและคำอุปมาอุปมัย
ของพระองค์ให้แก่เหล่าสาวกที่ไม่เข้าใจ

“ส่วนสาวกทั้งหลายจึงมาทูลพระองค์ว่า
“ทำไมพระองค์ตรัสกับพวกเขาเป็นอุปมา” ” (มัทธิว 13:10)

           พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างของครูผู้ถ่อมใจและเปิดโอกาสสนทนา (Dialogue) กับผู้อื่นเสมอ เช่น การสนทนาระหว่างฟาริสีที่ชื่อนิโคเดมัส ผู้เป็นขุนนางของพวกยิว
ที่ทั้งสองต่างสนทนากันอย่างสุภาพ คริสตจักรที่มีชีวิต คือ คริสตจักรที่ประกอบไปด้วยผู้ที่ต่างวัย (Multi-generation) และมีภูมิหลังที่หลากหลาย (Diversity)
โดยทุกคนสามารถที่จะเป็นพระพรและเติมเต็มซึ่งกันและกัน การร่วมรับใช้ในคริสตจักรจึงควรเป็นการทำงานที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนบนพื้นฐานความเคารพ
และยอมรับความจำกัดตลอดจนความแตกต่างของกันและกัน เปิดโอกาสการเรียนรู้แก่ทุกคน และเชื่ออยู่เสมอว่าพระเจ้าจะสามารถทำให้เกิดผล
จากความหลากหลายเหล่านั้นได้

3.การเรียนรู้ผ่านการกระทำ (Learning by doing)

“ภายหลังเหตุการณ์เหล่านั้น พระเยซูทรงแต่งตั้งอีกเจ็ดสิบสองคน และทรงใช้พวกเขาออกไปเป็นคู่ๆ ล่วงหน้าไปก่อนพระองค์
เข้าไปทุกเมืองและทุกตำบลที่พระองค์จะเสด็จไปนั้น” (ลูกา 10:1)

           พระเยซูทรงฝึกฝนผู้ที่จะทำงานรับช่วงต่อจากพระองค์ผ่านการเป็นตัวอย่างในหลายๆ ครั้ง พระองค์ทรงให้สาวกมีส่วนร่วมในการทำพันธกิจต่างๆ
เช่น การรักษาคนป่วย การขับไล่วิญญาณชั่ว การเทศนาสั่งสอน การเลี้ยงอาหารผู้คน เหล่าสาวกของพระองค์ล้วนมีโอกาสได้เห็น และเมื่อเริ่มคุ้นเคย
พระองค์ก็ให้โอกาสพวกเขาได้ฝึกปฏฺิบัติงานจริง (Practicum) ผ่านการออกไปทำพันธกิจเป็นคู่ และหากมีปัญหาใดก็สามารถกลับมารับคำแนะนำจากพระองค์ได้
การส่งต่องานของคริสตจักรก็เช่นกัน เมื่อให้ผู้รับช่วงต่อไปศึกษาแนวทางการทำพันธกิจของคริสตจักรแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองลงมือทำ
อาจจะมีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ส่งมอบมีบทบาทในการให้คำแนะนำและคอยสนับสนุน (Coaching)
เพื่อให้ผู้รับช่วงต่อสามารถเรียนรู้และเติบโตจากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

4.สาระสำคัญ (Essence)

มรดกที่คริสตจักรต้องส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เพียงไม้วิ่งผลัด หรือสิ่งที่เป็นวัตถุจับต้องได้ แน่นอนว่าตัวอาคารคริสตจักรนั้นย่อมมีความสำคัญ
และต้องได้รับการบูรณะให้คงอยู่และใช้การได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การส่งต่อความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อรับโทษบาป
และตายเพื่อมนุษย์, การสืบทอดพันธกิจต่างๆ ของพระองค์ ดังนิมิตของคริสตจักรที่ว่า

“เพื่อพระเยซูคริสต์จะได้มีคริสตจักรที่มีสง่าราศี” (เอเฟซัส 5:27)

          โดยคำว่า “สง่าราศี” ในที่นี้สอดคล้องกับคำขวัญของคริสตจักรที่ว่า “สร้างคริสตจักรด้วยพระคำ ร่วมสามัคคีธรรม นำสู่การรับใช้” คริสตจักรต้องสามารถส่งต่อหัวใจ
แห่งการศึกษาพระวจนะ การร่วมสามัคคีธรรม และการรับใช้ร่วมกัน แม้ว่ารูปแบบอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง เช่น การศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกันผ่านคู่มือ,
การมีชั้นเรียนพระคัมภีร์เพิ่มขึ้น, การสามัคคีธรรมที่เพิ่มเติม, การบรรเลงบทเพลงสรรเสริญร่วมสมัย, การถ่ายทอดสดการนมัสการบนสื่อออนไลน์
หรือการร่วมรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเยี่ยมเยียนผ่านทางวีดีโอคอล การส่งมิชชันนารีไปร่วมรับใช้ตามที่ต่างๆ การทำพันธกิจกับผู้พิการหรือ
การให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้าน แม้วิธีการจะเปลี่ยนแปลง แต่คริสตจักรทั้งผู้ส่งมอบและผู้รับช่วงต่อต้อง “ไม่หลงสื่อจนลืมสาร” และคงรักษาหัวใจของพันธกิจไว้

หัวข้ออธิษฐาน

  1. สรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระราชกิจที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ ระลึกถึงพันธกิจของคริสตจักรที่ท่านอาจเคยประทับใจหรือได้รับแรงบันดาลใจ
  2. ขอพระเจ้าเปิดเผยการทรงเรียกของท่านหรือเพื่อนสมาชิก และจิตใจที่พร้อมน้อมรับและตอบสนอง
  3. อธิษฐานเผื่อพันธกิจของคริสตจักรที่ท่านมี/อยากมี ส่วนรับใช้ (คริสเตียนศึกษา สุสาน ฉันทะภาระ ฟูมฟักและพัฒนาบุคลากร
    สตรี ดนตรี บ้านและครอบครัว ประกาศ บุรุษ และอนุชน)
  4. ขอพระเจ้าประทานผู้ที่จะมาร่วมรับใช้ในพันธกิจ
  5. ขอพระเจ้าเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของคริสตจักรที่มีช่วงวัยหรือภูมิหลังที่แตกต่างกัน
    ขอให้ทุกๆ คนมีโอกาสเป็นพระพรและเติมเต็มซึ่งกันและกัน
  6. อธิษฐานเผื่อคริตจักรที่จะมีสง่าราศีในแบบของพระเยซูคริสต์
  7. อธิษฐานเผื่อคริสตจักรที่จะสามารถส่งใจความสำคัญแห่งการทำพันธกิจจากรุ่นสู่รุ่นตลอดไป ผ่านรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับยุคสมัย
    จนถึงวันที่พระเยซูคริสต์เสด็จกลับมาอีกครั้ง

 

Hot industry news & trends

More useful articles